วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เราจะค้นหาตัวเองเจออย่างไร?

บางคนถามคำถามนี้กับตัวเองหลายครั้ง แต่คำตอบยังไม่พบ จึงต้องถามตัวเองต่อไปผมเคยตอบคำถามประเภทนี้แก่รุ่นน้องไปว่า

“ออกเดินทางสิ ไม่ก็นั่งรถเมล์ไปสุดสายแล้วนั่งกลับมา เผื่อจะคิดอะไรออก”

รุ่นน้องเอ่ย “บางทีมันติดอยู่ที่จมูก”

ผมพยักหน้า

“อาจเป็นสิ่งที่เราชอบ เราถนัดสนใจ เราจึงมีแรงแสวงหาและทำมัน”

รุ่นน้องทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เขาเคยมาปรึกษาวิชาเลขกับอังกฤษ แรกๆ ขยันตั้งใจเรียน แต่ตอนนี้มีสิ่งดึงดูดความสนใจออกไปคือ ความรัก และต่อมาคือ โอกาสที่เขาจะได้เป็นดีเจรายการในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง  ต้นตอของคำถามข้างต้นมาจาก คนในบริษัทที่จัดรายการ เสนอแนะว่า “น้องมีตัวตนแบบไหน ก็จัดรายการไปแบบนั้น”

รุ่นน้องจึงดั้นด้นมาถามผมก่อนบ่าย

“พี่ครับ พี่หาตัวตนของตัวเองเองเจออย่างไร”

“ถ้าพี่จะจัดรายการ พี่จะนำเสนอเนื้อหาอะไรบ้าง”

“แต่ละคนมีตัวตนแตกต่างกัน ถ้าหาให้เจอว่าเราสนใจหรือถนัดอะไร นั่นอาจเป็นตัวตนของเรา บางทีเราหาไม่เจอ คนรอบข้างต้องคอยบอก”

รุ่นน้อง “ใช่”

“ลองดูรูปแบบรายการทั่วไปสิ เขามีแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ มีแนะนำหนังสือดี มีรายงานข่าวที่น่าสนใจ มีตั้งหลายรายการหลายรูปแบบ”

“คือผมอยากหาสไตล์ของผมที่ไม่ซ้ำแบบใคร ผมอยากหาตัวตนให้เจอว่าคืออะไร”

“ต้องมองย้อนกลับข้างในตัวเอง”    รุ่นน้องครุ่นคิด

“บางครั้งการไปเห็นการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ทำให้มองเห็นคุณค่าที่เรามี มองเห็นสิ่งที่ดีที่น่าส่งเสริม”

“เดี๋ยวผมจะลองนั่งรถเมล์สุดสายดู”

“หรือจะไปเดินเล่นที่โล่งบริเวณสระน้ำก็ได้” ผมยกตัวอย่างเพิ่ม “มีรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ตอนนี้กำลังค้นหาตัวเองแต่ไม่เจอ เปลี่ยนไปเรียนหลายที่ ไม่ชอบเรียนเทคนิค หันมาเรียนบริหาร ก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบโรงแรมหรือคอมพิวเตอร์มากกว่ากัน

แล้วผมยกตัวอย่างคนใกล้ตัวให้รุ่นน้องฟังว่า “มีเพื่อนพี่คนหนึ่ง เขาไม่รู้ว่าตัวเองสอนหนังสือได้ แต่เขาชอบเขียนหนังสือ ตอนที่มารู้ตัวคือเพื่อนบอกว่าบุคลิกเขาเหมาะกับการเป็นครูมากกว่า เพราะใจเย็น ชอบเด็ก อีกทั้งมีความรู้อยู่ในตัวเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือเยอะ”

“เขาเลยไปสมัครสอนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาใกล้บ้าน จากนั้นมาติดใจเป็นครูสอนพิเศษจนถึงวันนี้”

รุ่นน้องตั้งใจฟัง “คือการสอนกับการเขียนมันคล้ายๆ กัน”

“ใช่ คือการถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้ออกไปยังคนรอบข้าง ถ้าคุณสามารถกลั่นกรองเรียบเรียง หรือย่อยความคิดเป็นของตัว เท่ากับสามารถนำสิ่งนั้นมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้”

รุ่นน้องพยักหน้า การค้นหาตัวเองฟังดูเป็นอะไรที่คลุมเครือเหมือนกัน เพราะคำตอบจากคนนอก ไม่เท่ากับคนผู้แสวงหาคำตอบด้วยตนเอง ฉะนั้นจึงไม่สามารถฟันธงคำตอบอะไรให้แน่ชัดได้

การที่จะเจอตัวตน อาจเปรียบได้กับต้องลองเปิดค้นลิ้นชักชีวิตของตนดูว่า ข้างในมันมีส่วนผสมที่ดีอะไรบ้าง หรือมีอะไรที่น่าสนใจที่พร้อมรอการสืบสานพัฒนาต่อไป ไม่มีใครตอบแทนกันได้ ทุกคนมีสิทธิ์ทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อจะเรียนรู้ว่าเป็นตัวตนที่แท้หรือไม่

ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเข้ามา อย่ารอช้า หรือคิดมากจนเกินควรจนไม่กล้าทำอะไร หรือทำได้ไม่เต็มที่ บางครั้งการวิ่งวนไปหาคำตอบของตัวตน อาจไม่สำคัญเท่ากับมีสติพร้อมรับมือกับสิ่งดีที่เข้ามาในชีวิต เพราะนั่นหมายถึงจิตใจที่มีสมาธิ พร้อมทุ่มเทพละกำลังและฝีมือกับสิ่งที่ทำตรงหน้า เมื่อนั้นไม่ต้องคาดหวังผลตามมา แล้วเราจะรู้คำตอบเองว่าตัวตนของเรามีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด

เครดิต : หมอเสริม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น